ไข้ ทำยังไงให้หายไว
ไข้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ ไข้โควิด ไข้ทับระดู ไข้เลือดออก … ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องเดียวกันหมดที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งผิดปกติ เป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้วิธีการดูแลที่ถูกต้อง
นายแพทย์พุฒิพงษ์ เจริญศรี | แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จะมาอธิบายเรื่องราวทั้งหมดของไข้ให้เข้าใจกันครับ
ไข้ | คืออะไร?
ไข้เป็นธรรมชาติ เป็นการตอบสนองต่อสิ่งที่ไม่ดีทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย ไข้ไม่ใช่โรค แต่คือ ภาวะที่ร่างกายมีการสั่งให้ปรับอุณหภูมิสูงขึ้น เพื่อตอบสนองกับสิ่งแปลกปลอม เชื้อโรค หรือสิ่งผิดปกติที่เข้าไปกระตุ้นร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส สารพิษในอาหาร หรือการอักเสบตามส่วนต่างๆ ในร่างกาย
การที่ร่างกายอุณหภูมิสูงขึ้นจากสภาพแวดล้อมภายนอกไม่เรียกว่าเป็นไข้
อุณหภูมิปกติของร่างกาย
อุณหภูมิปกติของร่างกายอยู่ที่ประมาณ 37.1 องศา (+1 และ -1 องศา) ในตอนเช้าอุณหภูมิจะต่ำและสูงขึ้นในตอนบ่ายๆ อุณหภูมิปกติของร่างกายแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกัน ในคนที่มีอัตราการเผาผลาญสูง (BMR : Besal Metabolic Rate) ก็จะมีอุณหภูมิร่างกายที่สูงกว่าคนที่มีอัตราการเผาผลาญต่ำกว่า เช่น คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ คนที่มีมวลกล้ามเนื้อเยอะ คนที่ไม่อ้วน ธรรมชาติแล้วผู้หญิงจะมีอุณหภูมิสูงกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะในช่วงที่ตกไข่อุณหภูมิจะสูงขึ้นประมาณ 0.5 องศา ในวัยหนุ่มสาวจะมีอุณหภูมิสูงกว่าวัยสูงอายุ และคนในสมัยก่อนจะมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าคนในปัจจุบันเพราะว่ากิจกรรมทางกายที่มีมากกว่า
ตัวควบคุมอุณหภูมิของร่างกายจะอยู่ที่สมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)
อาการของ ไข้
- ตัวร้อน อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
- หน้าแดง ตัวแดง
- ปวดหัว
- มือเย็น เท้าเย็น
- หนาวสั่น
- อัตราการเต้นหัวใจเร็วขึ้น
- อัตราการหายใจเร็วขึ้น
วิธีวัด ไข้ ที่บ้าน
- เครื่องวัดอุณหภูมิทางหูแบบอินฟราเรด (Ear Thermometer) *เหมาะที่สุดเมื่อใช้วัดอยู่ที่บ้าน*
- ปรอทวัดไข้ (Digital Thermometer) เสียบวัดตรงรักแร้แต่ต้องบวกอุณหภูมิเพิ่ม 0.5 องศา
ไข้ | ไม่ได้มีแต่โทษ ประโยชน์ก็มี
ข้อดี | เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นแต่ไม่สูงเกินไป
- ยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อโรค ทั้งแบคทีเรียและไวรัส
- เม็ดเลือดขาวทำงานดีขึ้น โดยเฉพาะชนิด CD8 – T Cell (เม็ดเลือดขาวที่ใช้ในการกำจัดไวรัส)
ข้อเสีย | เมื่ออุณหภูมิสูงเกินไป
- ทำลายเซลล์ในอวัยวะทุกๆ ส่วน ทำให้เซลล์ในอวัยวะนั้นเสื่อมและตาย ถ้าเกิดในสมองจะทำให้สมองเสื่อม ไม่รู้สึกตัว ชัก หมดสติ โคม่า และเสียชีวิต
- ทำให้เสียน้ำเยอะมากกว่าปกติ
ไข้ | วิธีดูแลให้หายเร็ว
สาเหตุ = เชื้อโรค แบคทีเรีย ไวรัส การอักเสบต่างๆ (สิ่งที่ร่างกายไม่ชอบ)
ผลลัพธ์ = ไข้ (ร่างกายสั่งให้ปรับอุณหภูมิสูงขึ้น)
วิธีที่จะทำให้ไข้หายเร็ว ต้องไปหาสาเหตุของไข้และกำจัดสาเหตุไม่ใช่ไปรีบลดไข้ ถ้าเราไปกินยาลดไข้ เชื้อโรคก็อยู่นาน หายไข้ช้า พอหมดฤทธิ์ยาไข้ก็ขึ้นเพราะเชื้อโรคไม่ได้ถูกจำกัด เมื่อเราเป็นไข้ไม่ว่าจะเป็นไข้อะไรก็แล้วแต่ เราต้องการให้การติดเชื้อหายไม่ใช่อยากให้ไข้หาย ถ้าการติดเชื้อหายเร็วไข้ก็จะหายเร็ว
วิธีดูแลไข้เพื่อให้การติดเชื้อหายเร็วสามารถทำได้โดยคอยวัดอุณหภูมิทุกๆ 2 ชั่วโมง ดังนี้
1. ห่มผ้าให้ความอบอุ่น
ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้ห่มผ้า อย่าเป่าพัดลม อย่าเป่าแอร์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการชัก
- ชักในเด็ก | ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 6 เดือน – 6 ขวบ และพบมากที่ช่วงอายุ 12-18 เดือน
- ชักในผู้ใหญ่ | โอกาสเกิดขึ้นน้อยกว่า ยกเว้นในกรณีที่อุณหภูมิสูงขึ้นมากแล้ว เช่น 41 องศา ขึ้นไป เพราะสมองจะสูญเสียการควบคุมทำให้กระตุ้นอาการชักได้ ถ้าไข้แล้วชักในผู้ใหญ่จะต้องหาสาเหตุว่าเป็นโรคลมชักหรือเปล่า มีการติดเชื้อในสมองไหม การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมองหรือเปล่า หรือว่ามีเนื้องอก หรือมะเร็งกระจายไปที่สมอง ถ้าเป็นผู้ใหญ่ต้องหาสาเหตุ
2. ลดการอักเสบ
- วิตามินซี (Vitamin C) | เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ เพราะฉะนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่ลดการอักเสบทุกส่วนในเซลล์ที่เป็นน้ำ
- ปริมาณที่แนะนำช่วงเป็นไข้ = 1,000 – 3,000 มิลลิกรัม/วัน
- วิตามินดี (Vitamin D) | เป็นวิตามินที่ละลายในไขมัน เพราะฉะนั้นจะเข้าไปทำหน้าที่ลดการอักเสบทุกส่วนในเซลล์ที่เป็นไขมัน
- ปริมาณที่แนะนำช่วงเป็นไข้ = 5,000 – 10,000 IU/วัน
3. ลดอาหารของเชื้อโรค
ช่วงเป็นไข้ร่างกายจะดึงเอาโปรตีนและไขมันมาเป็นพลังงาน จะไม่เอาน้ำตาลกลูโคสมาใช้เพราะเชื้อโรคก็จะเอาไปใช้เป็นพลังงานด้วย เป็นอาหารชั้นดีของเชื้อโรคเลย เวลามีไข้ให้งดกินน้ำตาลทุกประเภทไปเลย
ข้าวกินได้นิดหน่อย เลือกข้าวที่ไม่ขัดสี น้ำตาล ขนมหวาน ขนมปัง เบเกอรี่ ของหวาน ผลไม้ งดไว้ก่อน
4. ดื่มน้ำเปล่ามากขึ้น
น้ำสำคัญและจำเป็นสำหรับทุกกระบวนการในร่างกาย โดยเฉพาะช่วงมีไข้ร่างกายจะยิ่งต้องการน้ำมากขึ้น ให้ดื่มน้ำเปล่าที่สะอาดและมีแร่ธาตุเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม 2-3 เท่า
5. เสริมภูมิต้านทาน
- พรีไบโอติก (Prebiotic) | อาหารของจุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้จุลินทรีย์ที่ดีแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นทำให้ระบบภูมิต้านทานของร่างกายแข็งแรง
- ปริมาณที่แนะนำช่วงเป็นไข้ = 10 – 20 กรัม/วัน
- โพรไบโอติก (Probiotic) | จุลินทรีย์ที่ดีในร่างกาย เมื่อรับประทานเข้าไปแล้วจะทำให้ปริมาณจุลินทรีย์ที่ดีเพิ่มมากขึ้น
- ปริมาณที่แนะนำช่วงเป็นไข้ = 10,000 – 20,000 ล้านตัว/วัน
- สังกะสี (Zinc) | แร่ธาตุที่เป็นศูนย์กลางของระบบภูมิต้านทานของร่างกาย
- ปริมาณที่แนะนำช่วงเป็นไข้ = 30 – 50 มิลลิกรัม/วัน
6. แช่เท้าในน้ำอุ่น
เมื่อมีอาการปวดหัวมากๆ ไม่สบายตัวและไข้เกิน 39.0 องศา ให้เอาเท้าแช่ในน้ำอุ่น
ธรรมชาติของการอักเสบจะทำให้เส้นเลือดบริเวณในหัวขยายตัวและทำให้เส้นเลือดปลายมือปลายเท้าหดตัว เลยส่งผลทำให้เลือดไปอยู่ในสมองเยอะและอยู่ปลายมือปลายเท้าน้อย วิธีการเอาเท้าไปแช่น้ำอุ่น คือ วิธีลดอาการปวดหัวได้โดยไม่ต้องกินยา ทำให้เลือดที่กระจุกอยู่ที่สมอง กระจายออกไปปลายมือปลายเท้า
ใช้น้ำอุ่นอุณหภูมิ 40-42 องศา (ถ้าไม่มีเครื่องวัดอุณหภูมิ ให้ทดลองเอามือลงไปจุ่ม ถ้าสามารถแช่ได้โดยไม่ชักออกทันที ก็ถือว่าใช้ได้) แช่ 15 นาที สามารถทำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แล้วลองวัดไข้ดู ทำได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เลย
7. นอนพักผ่อน
เมื่อเป็นไข้ให้ลืมการนอนปกติของคุณไปได้เลย นอนพักผ่อนให้มากๆ ถ้ารู้สึก “เหนื่อย-เพลีย-หนักหัว” ก็ให้เอนหลังนอน ไม่ต้องคิดว่าเป็นกลางวันหรือกลางคืน
โดยที่สามารถอาบน้ำได้ โดยอุณหภูมิของน้ำควรอุ่นหรือเท่ากับอุณหภูมิห้องปกติ
8. เมื่อ ไข้ เริ่มสูง
เมื่ออุณหภูมิเกิน 39.0 องศา | เด็กและผู้ใหญ่เช็ดตัวด้วยน้ำ
- เช็ดตัวลดไข้ | ควรใช้เป็นวิธีแรกเสมอเมื่อไข้เริ่มสูงเกินไป ข้อดี คือ ลดไข้ได้โดยไม่ต้องกินยาและทำได้ทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในเด็กเพราะมีพื้นที่ผิวน้อยทำให้ลดอุณหภูมิได้ดี ได้เร็ว / ข้อเสีย คือ ลดไข้ได้ไม่เยอะ ให้ใช้น้ำอุณหภูมิห้องที่ต่ำกว่าอุณหภูมิร่างกายตอนนั้น ชุบผ้าบิดหมาดๆ แล้วเช็ดย้อนรูขุมขนขึ้น (ข้อควรระวังสำหรับการเช็ดตัวในเด็ก อาจจะทำให้หนาวสั่น ร้องไห้)
- ยาพาราเซตามอล | ข้อดี คือ ไม่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร / ข้อเสีย คือ ลดไข้ได้นิดหน่อยและทำให้ตับอักเสบเมื่อกินปริมาณสูงหรือติดต่อกันเป็นเวลานาน ลดลงมาได้บ้างแต่ก็ไม่ต่ำกว่า 37 แต่ควรกิน NAC (N-Acetyl Cysteine) ร่วมด้วย เพื่อช่วยกำจัดสารพิษที่ตับ
เมื่ออุณหภูมิเกิน 40.0 องศา | เด็กพาไปโรงพยาบาล ผู้ใหญ่เริ่มกินยาลดไข้
- ยากลุ่ม NSAIDs | ข้อดี คือ เหมาะสำหรับลดไข้สูง / ข้อเสีย คือ ไม่เหมาะกับคนที่อาจจะเป็นไข้เลือดออกและระคายเคืองกระเพาะอาหาร เนื่องจากผลของยาจะยับยั้งการเกาะตัวของเกล็ดเลือด ถ้าคนที่เป็นไข้เลือดออกมีโอกาสทำให้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น เด็กที่สงสัยอาจจะเป็นไข้เลือดออกหมอเด็กอาจจะพิจารณาไม่ให้ยากลุ่มนี้ โดยชื่อทางการค้าที่คนทั่วไปรู้จัก เช่น
- นูโรเฟน (Nurofen)
- เซเลเบร็กซ์ (Celebrex)
- อาร์คอกเซีย (Arcoxia)
- ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen)
- ซีลีคอกซิบ (Celecoxib)
9. ผู้สูงอายุและเด็กเล็ก
ผู้สูงอายุ (โดยเฉพาะที่มีโรคประจำตัว) และเด็กเล็ก (อายุไม่เกิน 1 เดือน) ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบพาไปโรงพยาบาลทันที เพราะ 2 กลุ่มนี้ ระบบภูมิต้านทานไม่ค่อยแข็งแรง เป็นอะไรไม่นานถ้าพลาดติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจะมีโอกาสเสียชีวิตสูง
- อุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือมีไข้
- อุณหภูมิต่ำกว่าปกติหรือตัวเย็นๆ ซึมๆ เรียกไม่ค่อยตอบสนอง
*ถ้าติดเชื้อเข้ากระแสเลือดเยอะจะทำให้เกิดภาวะอุณหภูมิต่ำกว่า 35 องศา (Sub-Temperature)*
10. ผื่นหลัง ไข้
ผื่นจะเกิดขึ้นเป็นปกติหลังจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ต้องตกใจ ไม่ได้อันตรายอะไร ปกติมันจะหายไปได้เอง แค่ไม่ไป “แคะ-แกะ-เกา” ทำให้ถลอกแล้วเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อน ยกเว้นถ้าคันมากๆ ก็ทาคาลาไมน์หรือกินยาแก้แพ้ลดอาการคัน
ผื่นหลังไข้จะเป็นผื่นปื้นๆ หรือว่าคันทั้งตัว ไม่ใช่จุดแดงๆ เล็กๆ ตามผิวหนัง ซึ่งเป็นอาการของไข้เลือดออก